www.buddhistsunday.com

/

ควมสำคัญ ศพอ.

Importance

ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

     ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ศพอ.) เป็นองค์กรทางพระพุทธศาสนาหนึ่งในชุมชนที่พระสงฆ์ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนเป็นเสมือนสถาบันพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนและประชาชน ซึ่งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทเพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากภาคคณะสงฆ์ ภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่ ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนา ศพอ. ให้มีคุณภาพ ทำให้ ศพอ. มีบทบาทในการพัฒนาชุมชน โดยมีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเป็นหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่

ที่ดูแลเอาใจใส่และมีส่วนผลักดันและพัฒนาศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์มาอย่างต่อเนื่อง

     กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนามีนโยบายที่จะบูรณาการงานในพื้นที่ โดยให้ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ศพอ.) เป็นแหล่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ที่เป็นรากฐานของชุมชนคุณธรรมที่จะนำหลักธรรมคำสอนให้ทุกกลุ่มเป็นรูปธรรม และร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนงานพื้นที่ มีแนวคิดในการพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนให้ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็น ศพอ. ที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนให้เป็น “ชุมชนคุณธรรม” อย่างต่อเนื่องอันจะเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยใช้มิติทางศาสนา บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างวัด บ้าน (ชุมชน) โรงเรียน ให้อยู่คู่กับสังคมไทย ทำให้ ศพอ. เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของชาติ ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีของรัฐบาล ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต เป็นการยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพเท่าเทียมและทั่วถึง โดยปลูกฝังระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่พึงประสงค์ เสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี และการสร้างความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการส่งเสริม

     การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนของชาติ สามารถเป็นตัวจักรใหญ่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย ในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากนโยบายที่เน้นการพัฒนาประเทศด้วยความรู้ด้านเทคโนโลยี เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ส่งเสริมทักษะการสื่อสารในสังคมโลกตามบริบทที่เปลี่ยนไป และรู้เท่าทันเทคโนโลยี ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันแต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าในการพัฒนาคนคือ การปลูกฝังให้เกิดคุณธรรม รู้ผิดชอบชั่วดี รู้หน้าที่ในการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ต่อสังคม และครอบครัว การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่พึงประสงค์ ๔ ประการ ดังกล่าว จึงเป็นการนำพาชาติให้เจริญรุ่งเรือง มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมไทย จนสามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวมดังนี้

     ๑. ศพอ. เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนาของชุมชน

          ๑.๑ ศูนย์ “ธรรมศึกษา” เพื่อบ่มเพาะให้ผู้เรียนเป็นคนดีมีคุณธรรม เน้น “ความรู้คู่คุณธรรม”โดยเปิดสอน “ธรรมศึกษา” ชั้นตรีชั้นโทและชั้นเอกมีครูผู้สอนทั้งพระภิกษุและฆราวาสที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรธรรมศึกษาของแม่กองธรรมสนามหลวง ซึ่งมี๓ ภาค ได้แก่ (๑) ภาควิชาบังคับทางพระพุทธศาสนา (๒) ภาควิชาเลือก มีการสอนเสริมวิชาสามัญ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ เป็นต้นและวิชาเลือกพิเศษตามความสนใจ เช่น ดนตรีไทย รำไทย ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ศิลปะ ฯลฯ และ (๓) ภาคกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น กิจกรรมทางพระพุทธศาสนา กิจกรรมทางสถาบันพระมหากษัตริย์ กิจกรรมเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ฯลฯ

          ๑.๒ ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยพัฒนาปรับปรุงสถานที่ในวัดให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เพื่อพัฒนาคนในชุมชนให้ดำรงชีพด้วยความพอเพียงอย่างต่อเนื่องจนเห็นคุณค่าและเกิดศรัทธา รู้จักความพอเพียง รู้จักการใช้ชีวิตอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม รู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ แบ่งปัน มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ค่านิยมความเป็นไทย ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืนโดยบูรณาการการทำงานและประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยทุกศูนย์ต้องเชื่อมโยงการเรียนรู้ต่อกันอย่างเป็นรูปธรรม และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับผู้ที่มีความสนใจในกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

     ๒. ศพอ. เป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมของชุมชน

     เป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมของชุมชน โดยเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของชุมชนที่มีบทบาทในการจัดกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับทุกภาคส่วนในพื้นที่ เช่น จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา พัฒนาคุณธรรมจริยธรรม สร้างภูมิคุ้มกันทางศีลธรรม จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมธำรงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีทางวัฒนธรรมที่ดีงาม จัดกิจกรรมทางสถาบันพระมหากษัตริย์เสริมสร้างความจงรักภักดี จัดกิจกรรมจิตอาสาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในด้านศาสนา ด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและด้านการรักษาสืบสานวัฒนธรรมไทย เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชนและประชาชนในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดีมีคุณธรรม มีปัญญาและมีความสุข และมีความสมานฉันท์สามัคคีภายในชุมชน

     ๓. ศพอ. เป็นศูนย์พัฒนาอาชีพของชุมชน

     เปิดบริการเป็นศูนย์ฝึกอาชีพ ใช้เป็นที่ฝึกอบรมอาชีพแก่เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และประชาชนในชุมชนที่ต้องการพัฒนาวิชาชีพ เช่น งานบริการ งานช่างต่าง ๆ ช่างตัดผม ช่างเย็บผ้า ช่างปูน ช่างเชื่อม งานจักสาน งานผลิตสินค้า เพื่อใช้หรือทำธุรกิจการค้า มีการนำทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นมาผลิตเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์แตกต่างตามวิถีวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ของแต่ละภาคแต่ละชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้ทุกคนในชุมชนมีงานทำอย่างทั่วถึง ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้น

     ๔. ศพอ. เป็นศูนย์ต้นแบบแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชน

     ศพอ.ต้นแบบ จะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนที่สำคัญ โดยจะมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการเป็น “ชุมชนคุณธรรมต้นแบบ” ที่เปิดกว้างให้ชุมชนอื่น ๆ ได้มาศึกษาดูงาน เยี่ยมเยียน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ศพอ. ต้นแบบ นี้จะคุณลักษณะพิเศษ คือ มีความสัมพันธ์ที่ดีภายในชุมชนมีการพึ่งพาอาศัยกัน มีความสามัคคี มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง คนในชุมชนให้ความร่วมมือในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนคุณธรรมอย่างเต็มที่มีภาคีเครือข่ายในการดำเนินงาน “บวร” ได้แก่ วัด บ้าน โรงเรียน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ฯลฯ ที่เข้มแข็ง เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน และทุกครัวเรือนโดยจัดกิจกรรมในมิติต่าง ๆ ที่สามารถเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นได้ศึกษา เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนตนเองให้เป็นชุมชนคุณธรรม เป็นการขยายผลสู่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป